ความเป็นมา
เนื่องจากผลผลิตข้าว และการเพิ่มของพลเมือง ไทยมีอัตราส่วนใกล้เคียงกันมาก จึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงพื้นที่เพาะปลูก ที่มีอยู่แล้ว ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแหล่งผลิตข้าวส่วนใหญ่ได้มาจากทุ่งราบเจ้าพระยา ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้วางแผนพัฒนาแควทั้ง 4 ของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ปิง วัง ยม และน่าน กรมชลประทานได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่าน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 โครงการเขื่อนสิริกิติ์
ระยะที่ 2 โครงการชลประทานพิษณุโลก
ระยะที่ 3 โครงการชลประทานอุตรดิตถ์
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวรเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาเกษตรชลประทานพิษณุโลก ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านระยะที่ 2 โดยการก่อสร้างเขื่อนนเรศวร ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำในแม่น้ำน่าน ที่บ้านหาดใหญ่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เพื่อใช้ประโยชน์จากน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนสิริกิติ์ที่อยู่ทางด้านเหนือน้ำประมาณ 176.00 กิโลเมตร และก่อสร้างระบบส่งน้ำเพื่อนำน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งแม่น้ำน่านจำนวน 1,443,000 ไร่ บริเวณพื้นที่ในเขตจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ตอนบน
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวรรับผิดชอบพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำน่าน รวม 94,700 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ในเขต อำเภอพรหมพิราม 83,500 ไร่ และ อำเภอวัดโบสถ์ 11,200 ไร่ จังหวัดพิษณุโลก